ประวัติจังหวัดชัยภูมิ
สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองชัยภูมิปรากฏในทำเนียบแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่าเป็นเมืองขึ้นกับเมืองนครราชสีมา แต่ต่อมาผู้คนได้อพยพออกไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินที่อื่น และเมื่อปี พ.ศ. 2360 "นายแล" ข้าราชการสำนักเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ได้อพยพครอบครัวและบริวารเดินทางข้ามลำน้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านหนองน้ำขุ่น (หนองอีจาน) ซึ่งอยู่ในบริเวณท้องที่อำเภอสูงเนินจังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2362 เมื่อมีคนอพยพเข้ามาอยู่มาก นายแลก็ได้ย้ายชุมชนมาตั้งใหม่ที่บ้านโนนน้ำอ้อม บ้านชีลอง ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ 6 กิโลเมตร นายแลได้เก็บส่วยผ้าขาวส่งไปบรรณาการเจ้าอนุวงศ์จนได้รับบำเหน็จความชอบแต่งตั้งเป็น "ขุนภักดีชุมพล" ในปี พ.ศ. 2365 นายแลได้ย้ายชุมชนอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากที่เดิมกันดารน้ำ มาตั้งใหม่ที่บริเวณบ้านหลวงซึ่งตั้งอยู่ระหว่างหนองปลาเฒ่ากับหนองหลอด (เขตอำเภอเมืองชัยภูมิปัจจุบัน) และได้หันมาขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา และส่งส่วยทองคำถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ยอมขึ้นต่อเจ้าอนุวงศ์อีกต่อไป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้ายกบ้านหลวงขึ้นเป็น เมืองชัยภูมิ และแต่งตั้งขุนภักดีชุมพล (แล) เป็น "พระยาภักดีชุมพล" เจ้าเมืองคนแรก
ต่อมาเจ้าอนุวงศ์ได้ก่อการกบฏ ยกทัพเข้ามาหมายจะตีกรุงเทพมหานคร โดยหลอกหัวเมืองต่าง ๆ ที่เดินทัพมาว่าจะมาช่วยกรุงเทพมหานครรบกับอังกฤษ จนกระทั่งเจ้าอนุวงศ์สามารถยึดเมืองนครราชสีมาได้เมื่อปี พ.ศ. 2369 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นต่อมาเมื่อความแตก เจ้าอนุวงศ์ได้กวาดต้อนชาวเมืองนครราชสีมาเพื่อนำไปยังเมืองเวียงจันทน์
เมื่อไปถึงทุ่งสัมฤทธิ์ หญิงชายชาวเมืองที่ถูกจับโดยการนำของคุณหญิงโม ภรรยาเจ้าเมืองนครราชสีมา ได้ลุกฮือขึ้นต่อสู้ พระยาภักดีชุมพล (แล) เจ้าเมืองชัยภูมิ พร้อมด้วยเจ้าเมืองใกล้เคียงได้ยกทัพออกไปสมทบกับคุณหญิงโม ตีกระหนาบทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์จนแตกพ่ายไป ฝ่ายกองทัพลาวส่วนหนึ่งล่าถอยจากเมืองนครราชสีมาเข้ายึดเมืองชัยภูมิไว้และเกลี้ยกล่อมให้พระยาภักดีชุมพลเข้าร่วมเป็นกบฏด้วย แต่พระยาภักดีชุมพลไม่ยอม เจ้าอนุวงศ์เกิดความแค้นจึงจับตัวพระยาภักดีชุมพลมาประหารชีวิตที่บริเวณใต้ต้นมะขามใหญ่ริมหนองปลาเฒ่า ซึ่งต่อมาชาวชัยภูมิได้ระลึกถึงคุณความดีที่ท่านมีความซื่อสัตย์และเสียสละต่อแผ่นดิน จึงได้พร้อมใจกันสร้างศาลขึ้น ณ บริเวณนั้น ปัจจุบันทางราชการได้สร้างศาลขึ้นใหม่เป็นศาลาทรงไทยชื่อว่า "ศาลาพระยาภักดีชุมพล (แล)" มีรูปหล่อของท่านอยู่ภายใน เป็นที่เคารพกราบไหว้และถือเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของจังหวัด ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดชัยภูมิประมาณ 3 กิโลเมตร

ตราประจำจังหวัด
เป็นรูปธงสามชาย ซึ่งเป็นธงนำกระบวนทัพในสมัยโบราณ
หมายถึง ธงแห่งชัยชนะสงคราม เดิมผู้ครองนคร ได้เลือกภูมิประเทศเพื่อตั้งเป็นเมือง
พบว่าตรงจังหวัดนี้มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ทำเลเหมาะแก่การสู้รบป้องกันตัว
จึงตั้งเมืองขึ้นและให้สัญญลักษณ์เป็นรูปธงชัย 3 แฉก
จังหวัดชัยภูมิ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2440 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศใหม่จัดเมืองต่าง ๆ เป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โดยรวมเอา 5 เมืองที่ขึ้นต่อเมืองนครราชสีมาในอดีต ได้แก่ เมืองชัยภูมิ เมืองสี่มุม (จัตุรัส) เมืองภูเขียว (ผักปัง) เมืองเกษตรสมบูรณ์ (บ้านยาง) และเมืองบำเหน็จณรงค์ (บ้านชวน) โดยเลือกเอาเมืองชัยภูมิ ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างสองเมืองใหญ่คือเมืองสี่มุม (จัตุรัส) และเมืองภูเขียว (ผักปัง) ยกฐานะเป็นศูนย์กลางของจังหวัด และเปลี่ยนเป็นอำเภอเมืองชัยภูมิ ยุบเมืองทั้ง 4 เป็นอำเภอ ได้แก่ อำเภอจัตุรัส อำเภอภูเขียว อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอบำเหน็จณรงค์ ต่อมาได้มีการยุบอำเภอบำเหน็จณรงค์ให้อยู่ในการปกครองของอำเภอจัตุรัส และยุบอำเภอเกษตรสมบูรณ์ให้อยู่ในการปกครองของอำเภอภูเขียว เนื่องจากอำเภอทั้ง 2 นั้นอยู่ไม่ไกลกัน จังหวัดชัยภูมิจึงเหลืออยู่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอจัตุรัส และอำเภอภูเขียว ที่เป็น 3 เมืองเสาหลัก ร่วมก่อตั้งจังหวัดชัยภูมิขึ้นมา และเจริญมาตามลำดับ ปัจจุบันจังหวัดชัยภูมิแบ่งการปกครองทั้งหมด 16 อำเภอ เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอันดับ 7 ของประเทศ โดยมีเนื้อที่ประมาณ 12,778.3 ตารางกิโลเมตร เป็นที่ตั้งของแหล่งอารยธรรมอันเก่าแก่นับตั้งแต่สมัยทวารวดี สมัยขอม กระทั่งสมัยที่ได้รับอิทธิพลจากอาณาจักรล้านช้าง
ชัยภูมิมีเขตติดต่อกับจังหวัดเพื่อนบ้านหลายจังหวัด ได้แก่ ทิศเหนือ ติดกับเพชรบูรณ์และขอนแก่น ทิศตะวันออกติดกับขอนแก่นและนครราชสีมา ทิศตะวันตกติดกับเพชรบูรณ์และจังหวัดลพบุรี และทิศใต้ติดกับจังหวัดนครราชสีมา
คำขวัญประจำจังหวัด: ชัยภูมิ เมืองผู้กล้า พญาแล
คำขวัญเพื่อการท่องเที่ยว: ทิวทัศน์สวย รวยป่าใหญ่ มีช้างหลาย ดอกไม้งาม ลือนามวีรบุรุษ สุดยอดผ้าไหม พระใหญ่ทวารวดี

ดอกไม้ประจำจังหวัด: ดอกกระเจียว (Curcuma alismatifolia)

ต้นไม้ประจำจังหวัด : ต้นขี้เหล็ก
อำเภอที่สำคัญของจังหวัด
1. อำเภอเมืองชัยภูมิ เป็นศูนย์กลางของจังหวัด
2. อำเภอจัตุรัส ประตูสู่จังหวัดชัยภูมิ เป็นอำเภอขนาดใหญ่ ศูนย์กลางความเจริญทางตอนใต้ และศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของจังหวัด
3. อำเภอภูเขียว เป็นอำเภอขนาดใหญ่ ศูนย์กลางความเจริญทางตอนเหนือของจังหวัด
ที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดชัยภูมิ ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตรงบริเวณใจกลางของประเทศ บริเวณเส้นรุ้งที่ 15 องศาเหนือ เส้นแวงที่ 102 องศาตะวันออก อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 631 ฟุต ห่างจากกรุงเทพมหานครโดยทางรถยนต์ประมาณ 332 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 12,778.3 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,986,429 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 7.6 ของพื้นที่ทั้งหมดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 2.5 ของพื้นที่ทั้งประเทศ มีพื้นที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นลำดับที่ 7 ของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ
จังหวัดชัยภูมิมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง บริเวณตอนกลางของจังหวัดเป็นพื้นที่ราบ พื้นที่ครึ่งหนึ่งของจังหวัดเป็นป่าไม้และภูเขา นอกจากนั้นเป็นที่ราบสูง มีพื้นที่ป่าไม้และเทือกเขาตั้งเรียงรายจากทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตก ประกอบด้วยเทือกเขาสำคัญคือ ภูเขียว ภูแลนคา และภูพังเหย ด้วยลักษณะดังกล่าวจึงทำให้พื้นที่จังหวัด ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนเหนือ มีอำเภอหนองบัวแดง แก้งคร้อ บ้านแท่น เกษตรสมบูรณ์ ภูเขียว คอนสาร และภักดีชุมพลส่วนใต้ มีอำเภอเมืองชัยภูมิ บ้านเขว้า จัตุรัส บำเหน็จณรงค์ เทพสถิต หนองบัวระเหว คอนสวรรค์ อำเภอเนินสง่า และกิ่งอำเภอซับใหญ่
ลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญ แบ่งได้ 3 ลักษณะดังนี้
1.พื้นที่ราบฝั่งแม่น้ำ เขตนี้มีพื้นที่ประมาณ 1,048,000 ไร่ หรือร้อยละ 13 ของพื้นที่จังหวัด มีความสูงตั้งแต่ 0- 200 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ได้แก่ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำชีในเขตอำเภอเมืองชัยภูมิ บำเหน็จณรงค์ จัตุรัส คอนสวรรค์ บริเวณนี้จะเป็นเขตที่ราบ น้ำท่วมถึงในฤดูฝน
2.พื้นที่ลูกคลื่นลอนต่ำ อยู่ตอนกลางของพื้นที่จังหวัดเป็นแนวยาวตามทิศเหนือ-ใต้ ตามแนวเทือกเขาดงพญาเย็น มีความสูงประมาณ 200- 500 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ได้แก่ พื้นที่บางส่วนในเขตอำเภอเมืองชัยภูมิ จัตุรัส บำเหน็จณรงค์ บ้านเขว้า และคอนสวรรค์
3.พื้นที่สูงและภูเขา สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลอนลึกและภูเขาในเขตเทือกเขาดงพญาเย็น มีความสูงตั้งแต่ 500- 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งได้แก่ พื้นที่บางส่วนของอำเภอหนองบัวระเหว คอนสาร เกษตรสมบูรณ์ ภูเขียว แก้งคร้อ และพื้นที่ทางตอนเหนือของอำเภอเมืองชัยภูมิ

ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น